How to การเขียนแผนธุรกิจ (Business Plan) เพื่อความเป็นมืออาชีพ

Last updated: 19 ก.ค. 2568  |  55 จำนวนผู้เข้าชม  | 

How to การเขียนแผนธุรกิจ (Business Plan) เพื่อความเป็นมืออาชีพ

     ก่อนออกเดินทางไปข้างนอก ไม่ว่าจะไปเที่ยวหรือไปทำงาน เรามักจะเตรียมตัววางแผนการเดินทางเอาไว้อย่างดีเสมอเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ การทำธุรกิจเองก็เช่นกัน หากมีการวางแผนที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นก็จะช่วยทำให้กิจการของเรานั้นเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จได้

 

 

Business Plan คืออะไร?

     Business Plan หรือ แผนธุรกิจ หมายถึง การสร้างภาพรวมของธุรกิจ โดยเริ่มตั้งแต่แนวคิดในการทำธุรกิจ ข้อมูลพื้นฐานของกิจการ วิธีดำเนินการ จุดแข็งและจุดอ่อนที่มี และที่ขาดไม่ได้คือ การเงิน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ใช่แค่ทำให้เห็นภาพรวมของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังทำให้พนักงานทุกคนในบริษัท มีเป้าหมายในการทำงานเหมือนกัน ภายใต้หน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมายอีกด้วย

     การทำแผนธุรกิจที่ดี จะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลในด้านต่าง ๆ อย่างครอบคลุม ทั้งแผนการตลาด และการวางแผนและการคาดการณ์ทางการเงิน เพื่อทำให้รู้ว่าธุรกิจจะเติบโตไปในทิศทางไหนได้บ้าง มีการจัดการต่อสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งหากธุรกิจใดที่มีการทำ Business Plan ที่ดีก็จะทำให้ธุรกิจเติบโต และประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ซึ่งการเขียนแผนธุรกิจหลัก ๆ จะมีอยู่ 7 ขั้นตอน ดังนี้

 

 

1. Business Idea : แนวคิดหลักในการทำธุรกิจ

     การทำแผนธุรกิจขั้นแรกก็คือ การวาง Business Idea หรือ “แนวคิดหลักในการทำธุรกิจ” ซึ่งเป็นการสรุปไอเดียว่าภาพรวมของธุรกิจคืออะไร โครงสร้างเป็นอย่างไร โอกาสในการเติบโตมีมากน้อยแค่ไหน และมีเป้าหมายอย่างไรบ้าง เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นการบอกภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจที่ต้องทำนั่นเอง

     สำหรับองค์ประกอบของ Business Idea ต้องประกอบไปด้วย ภาพรวมของธุรกิจ, โอกาสและการแข่งขันในตลาด,  เป้าหมายที่วางเอาไว้, กลยุทธ์ต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จตามเป้าที่วางเอาไว้, แผนการลงทุน ความเสี่ยง แนวทางการบริหารเงิน และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือผลตอบแทนที่จะได้รับจากการทำธุรกิจ ทั้งนี้ ไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แต่ยังรวมไปถึงบุคคลากรในองค์กรด้วย


2. Business Background : ความเป็นมาของธุรกิจ

     การมีประวัติหรือที่มาของธุรกิจ รวมถึงการทำบทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) หุ้นส่วน สินค้าและบริการ โดยอาจทำให้เห็นภาพรวมหลัก ๆ ที่สำคัญก็ได้ เช่น เป้าหมาย วิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กร


3. Brand Analysis : การวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยง

     การทำ Brand Analysis หรือ Business Analysis เป็นการวิเคราะห์ธุรกิจโดยนำข้อมูลจากแนวคิดของธุรกิจ และ Business Background มาวิเคราะห์ต่อ เพื่อทำให้เห็นว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจคืออะไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ซึ่งการวิเคราะห์ในด้านนี้จะทำให้เห็นถึงสภาพการตลาด ขนาดของตลาด อัตราการเติบโต เทรนด์ของตลาด คู่แข่ง ลูกค้า โอกาสทางธุรกิจ รวมถึงอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น


4. Marketing Plan : แผนการตลาด

     การวางแผนการตลาด หรือ Marketing Plan เป็นการวางกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่สำคัญต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าโดยตรง ทำให้มียอดขาย โดยอาจจะเลือกใช้วิธีการทำการตลาดแบบ 4P หรือการวางแผนการตลาดแบบผสมผสาน ระหว่าง Product, Price, Place และ Promotion นอกจากนี้ อาจจะต้องวางแผนการโปรโมตด้วย เช่น การเลือกว่าจะทำการตลาดออนไลน์ผ่านทาง Facebook หรือ Tiktok เพื่อโปรโมตสินค้า เป็นต้น

     ทั้งนี้ การวางแผนการตลาดที่ดี อาจจะต้องใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจ โดยกลยุทธ์ที่นักธุรกิจมือใหม่ควรรู้จักก็คือ

  • Product Strategy (กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์)
  • Price Strategy (กลยุทธ์ราคา)
  • Place Strategy (กลยุทธ์การจัดจำหน่าย)
  • Promotion Strategy (กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด)
  • Public Relation Strategy (กลยุทธ์การให้ข่าวสาร)
  • Personal Strategy (กลยุทธ์ด้านการใช้พนักงานขาย)
  • People Strategy (กลยุทธ์เพื่อสร้างการสนับสนุนจากผู้คน)
  • Packaging Strategy (กลยุทธ์บรรจุภัณฑ์)
  • Partners Strategy (กลยุทธ์คู่ค้าหรือกลยุทธ์หุ้นส่วน)
  • Perception Strategy (กลยุทธ์ความเข้าใจ)

     ที่ขาดไม่ได้เลยคือ การวางแผนการตลาดจะต้องทำควบคู่กันไปกับแผนการขาย (Sales Plan) โดยจะต้องมีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ชัดเจน การวางกลยุทธ์ทางการขาย กำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจ กำหนดราคา วางกลยุทธ์ส่งเสริมการขาย ติดตามผลการดำเนินงาน และที่สำคัญคือการกำหนดว่าจะเพิ่มยอดขายอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา เช่น กำหนดว่าในปีหน้ายอดขายจะต้องเพิ่มขึ้น 15 – 30% เป็นต้น


5. Operation Plan : แผนการดำเนินงาน

     การวางโครงสร้างธุรกิจด้วยการวางแผนการผลิตสินค้าหรือบริการ โดยจะต้องมีทั้งเป้าหมายในการผลิต กระบวนการ แหล่งวัตถุดิบที่ใช้ การจัดการสินค้าคงคลัง บุคลากร เทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่ใช้ในธุรกิจ เช่น ใช้ระบบ POS ในการขายสินค้า เป็นต้น

     การวางแผนในการปฏิบัติงานอย่างครอบคลุมจะทำให้เห็นว่าธุรกิจเรามีต้นทุนมากน้อยแค่ไหนใน แต่ละกระบวนการต้องควบคุมคุณภาพหรือวัตถุดิบอย่างไร เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพเช่นเดิม โดยการวางแผนการดำเนินงานจะเห็นผลได้ชัดที่สุดก็ต่อเมื่อมีพนักงานเพิ่มมากขึ้น มีการขยายธุรกิจ ซึ่งก็มีความคาบเกี่ยวกับโครงสร้างขององค์กรด้วยเช่นกัน


6. Financial Plan : แผนการเงิน

     แต่ละธุรกิจจะมีการลงทุนและต้นทุนที่แตกต่างกัน แต่การทำธุรกิจย่อมหมายถึงการลงทุนที่มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้น การเริ่มต้นทำธุรกิจที่ดีจะต้องวางแผนทางการเงินให้รัดกุม มีความรอบคอบ เพราะหากวางแผนไว้ไม่ดีก็อาจเสี่ยงต่อการขาดทุนโดยไม่รู้ตัวได้

     ตัวอย่างเช่น ตั้งราคาจำหน่ายเพื่อทำให้สินค้าซื้อง่ายขายคล่อง แต่ราคาไม่ได้สัมพันธ์กับวัตถุดิบที่เลือกใช้ หรือไม่ได้คำนวณต้นทุนแฝงของวัตถุดิบที่หมดอายุเร็ว ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งการเขียนแผนธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม และกลุ่มธุรกิจร้านกาแฟ ที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน


7. Emergency Plan : แผนการรับมือฉุกเฉิน

     ลำดับสุดท้ายที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการดำเนินธุรกิจคือการเตรียม “แผนสำรอง” หรือ “แผนฉุกเฉิน” เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างเป็นระบบ เช่น ในสภาวะที่ต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจซบเซา การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และที่ขาดไม่ได้คือ ภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ของประชากร ซึ่งอาจจะส่งผลให้กลุ่มลูกค้าที่วางไว้หายไป เพราะต้องลดค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่จำเป็นออก ดังนั้น ธุรกิจทุกประเภทควรมีแผนสำรองฉุกเฉินต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่าง ๆ เอาไว้ด้วย ก่อนเริ่มต้นเปิดบริษัทอย่างเป็นทางการ



ที่มา : https://smemove.com/blog/การทำ-business-plan/

 


สอบถามเพิ่มเติม

บริษัท นคร แอคเค้าน์ติ้ง ซัพพอร์ท จำกัด
โทร 063-9782261, 082-6962896
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้