รู้หรือไม่? อากรแสตมป์ไม่ใช่แสตมป์ไปรษณีย์นะ!

Last updated: 1 ก.ค. 2568  |  18 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้หรือไม่? อากรแสตมป์ไม่ใช่แสตมป์ไปรษณีย์นะ!

รู้หรือไม่? อากรแสตมป์ไม่ใช่แสตมป์ไปรษณีย์นะ!

     หลายคนมักชอบสับสนระหว่าง "อากรแสตมป์" และ "แสตมป์ไปรษณีย์" เพียงเพราะมีคำว่า "แสตมป์" เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองมีความหมายต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้นะ

แล้วอากรแสตมป์คืออะไร?

     อากรแสตมป์ คือ ภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่งที่จัดเก็บจากการทำตราสารหรือเอกสาเช่น สัญญา กรรมสิทธิ์ หรือเอกสารทางธุรกรรมอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ที่ต้องเสียภาษีอากรแสตมป์ก็คือผู้ที่ทำตราสารขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม หากไม่ดำเนินการให้ถูกต้องจะมีผลคือไม่สามารถใช้สัญญาหรือตราสารนั้นเป็นหลักฐานทางกฎหมายได้

ตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์

     คำว่า “ตราสาร” ตามประมวลรัษฎากร หมายถึง เอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 28 ลักษณะตราสาร เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน กู้ยืมเงิน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ ฯลฯ อากรแสตมป์เป็นภาษีอากรที่จัดเก็บจากการกระทำตราสาร โดยคำว่า “กระทำ” หมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สามารถดูบัญชีอัตราอากรแสตมป์เพิ่มเติมได้ที่ บัญชีอัตราอากรแสตมป์

ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์

     1. บุคคลตามที่ระบุไว้ในช่องที่ 3 ของบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เช่น ผู้ให้เช่าผู้โอน ผู้ให้กู้ ผู้รับประกันภัย ฯลฯ
     2. ถ้าตราสารทำขึ้นนอกประเทศ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ทรงตราสารคนแรกในประเทศเป็น ผู้เสียอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น
         ถ้าหากไม่ได้ปฏิบัติตามความข้างต้น ผู้ทรงคนใดคนหนึ่งต้องเสียอากรแล้วจึงยื่นตราสารเพื่อให้จ่ายเงิน รับรอง สลักหลัง โอนหรือถือเอาประโยชน์ได้
         ผู้ทรงตราสารคนใด ได้ตราสารตามความข้างต้นไว้ในครอบครองก่อนพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น จะเป็นผู้เสียอากรก็ได้โดยมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ทรงคนก่อนๆ
      3. ตั๋วเงินที่ยื่นให้ชำระเงิน มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้รับตั๋วจะเสียอากรและใช้สิทธิไล่เบี้ยจาก ผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือหักค่าอากรจากเงินที่จะชำระก็ได้
      4. ผู้มีหน้าที่เสียอากร ตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อาจตกลงให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้เสียอากรแทนตนก็ได้ เว้นแต่กรณีตาม 2.

วิธีการเสียอากรแสตมป์

     1. ในกรณีแสตมป์ปิดทับ คือการได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือใน ทันทีที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว หรือ

     2. ในกรณีแสตมป์ดุน คือการได้เสียอากรโดยใช้กระดาษมีแสตมป์ดุนเป็นราคาไม่น้อยกว่า อากรที่ต้องเสีย และขีดฆ่าแล้ว หรือโดยยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุน และชำระเงินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่าแล้ว หรือ

     3. ในกรณีชำระเป็นตัวเงิน คือการได้เสียอากรเป็นตัวเงิน เป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียตาม บทบัญญัติในหมวดอากรแสตมป์ หรือตามระเบียบที่อธิบดีจะได้กำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี โดยสามารถชำระได้ 2 ช่องทาง

อากรแสตมป์หาได้จากที่ไหน?

     หลายคนมักเข้าใจผิดว่าอากรแสตมป์สามารถหาซื้อได้ที่ไปรษณีย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วอากรแสตมป์สามารถหาซื้อได้ที่กรมสรรพากร หรือจุดให้บริการของรัฐอื่นๆ ที่ต้องมีการติดอากรแสตมป์

     *แสตมป์ไปรษณีย์เอาไว้ใช้ในการส่งจดหมาย แต่อากรแสตมป์เอาไว้ใช้ในการติดตราสารต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย*

หากไม่ติดอากรแสตมป์จะเกิดอะไรขึ้น?

     ตราสารที่ไม่ได้ติดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามกฎหมายจะไม่สามารถนำตราสารนั้นไปเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ จนกว่าจะได้เสียอากรครบตามจำนวนและขีดฆ่าแล้ว นอกจากนี้ตราสารที่ไม่ได้ติดอากรแสตมป์ให้ถูกต้อง กฎหมายยังห้ามเจ้าพนักงานให้ทำหรือบันทึกสิ่งใด ๆ ลงในตราสาร จนกว่าจะได้เสียอากรให้ครบถ้วนตามกฎหมาย

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/305.html


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้