ตราสารที่ได้รับการยกเว้นการติดอากรแสตมป์ และบทบังคับโทษ

Last updated: 30 พ.ย. 2562  |  5363 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตราสารที่ได้รับการยกเว้นการติดอากรแสตมป์ และบทบังคับโทษ

ตราสารที่ได้รับการยกเว้นการติดอากรแสตมป์

          ก่อนอื่นเราต้องมารู้จักว่าคำว่า “ตราสาร” ตามประมวลรัษฎากรหมายความว่า เอกสารที่ต้องเสียอากรตามหมวดอากรแสตมป์ ตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์

ตามพระราชกฤษฎีกา ยกเว้นอากรให้แก่

          - ธนาคารแห่งประเทศไทย
          - ธนาคารอาคารสงเคราะห์
          - ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
          - ผู้ประกอบการขนส่งเฉพาะการรับเงินที่เป็นค่ารับขนส่งคนโดยสาร
          - บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
          - ผู้ค้ำประกัน เฉพาะการค้ำประกันหนี้เนื่องแต่การที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตรให้กู้ยืมหรือให้ยืม
          - ผู้ออกใบรับ เฉพาะการรับเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้กู้ยืมหรือให้ยืม
          - การเคหะแห่งชาติ
          - ผู้โอน เฉพาะโอนหลักทรัพย์จดทะเบียน หรือหลักทรัพย์รับอนุญาต ที่ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย เป็นนายทะเบียนสำหรับการโอนหลักทรัพย์นั้น
          - ผู้ที่ต้องเสียอากรสำหรับตราสารที่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ไม่ถึงหนึ่งบาท หรือตราสารที่คำนวณ ค่าอากรแสตมป์แล้ว ต้องเสียอากรแสตมป์ตั้งแต่หนึ่งบาทขึ้นไป เฉพาะส่วนที่เป็นเศษของบาท
          - ผู้โอน เฉพาะการโอนพันธบัตรธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็น นายทะเบียนสำหรับการโอนพันธบัตรนั้น
          - ยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับตราสารใบรับ ซึ่งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย และองค์การกุศล สาธารณะอื่นที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกันเป็นผู้ออก
          - ผู้โอนหุ้นในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
          - องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
          - บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน
          - ผู้ที่ต้องเสียอากร เฉพาะกรณีที่ต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์สำหรับตราสารที่ทำขึ้นระหว่าง นิติบุคคลเฉพาะกิจกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแปลงสินทรัพย์หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วย นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
          - กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหา ในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
          - บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
          - ผู้โอน เฉพาะการโอนหลักทรัพย์จดทะเบียนที่บุคคลซึ่งได้รับอนุญาต จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เป็น นายทะเบียนหลักทรัพย์สำหรับการโอนหลักทรัพย์นั้น
          - ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
          - รัฐวิสาหกิจ เฉพาะการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดมาเปลี่ยนสภาพ เป็นของบริษัท จำกัด หรือบริษัท มหาชน จำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ
          - อนุญาโตตุลาการ เฉพาะตราสารคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
          - สถาบันพัฒนาองค์การชุมชน (องค์การมหาชน)
          - ผู้ที่ต้องเสียอากร เฉพาะตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ในกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน เฉพาะในส่วนของหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
          - กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เฉพาะการกระทำตราสารในการให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป
          - กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้องที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
          - ผู้ขาย เฉพาะการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายอสังหาริมทรัพย์”ดังต่อไปนี้

                   (ก) บ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย
                   (ข) อสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) พร้อมที่ดิน
                   (ค) ห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

          ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับกรณีการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้โอนได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

          การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องปรากฏว่าภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนหรือนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ผู้ขายได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ซึ่งมีลักษณะตาม (ก) (ข) หรือ (ค) เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน และให้ได้รับยกเว้นเท่ากับค่าอากรแสตมป์ที่คำนวณได้จากจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 444) พ.ศ. 2548 ใช้บังคับ 30 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นไป)

          - ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนเนื่องจากการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย”
          - ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป
          - สถาบันคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
          - ยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร แก่บุคคลตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญา ว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือทางเทคนิคระหว่างรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศ
          - ยกเว้นบรรดารัษฎากรประเภทต่าง ๆ ที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร ให้แก่

                   (ก) องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติและเจ้าหน้าที่ หรือผู้เชี่ยวชาญ ขององค์การ หรือทบวงการดังกล่าว ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย ในเมื่อประเทศไทย มีข้อผูกพันให้ยกเว้นตามอนุสัญญา หรือความตกลง
                   (ข) สถานเอกอัคราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล บุคคลในคณะทูต บุคคลในคณะกงสุล และบุคคลที่ถือว่าอยู่ในคณะทูตตามความตกลง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักถ้อยที ถ้อยปฏิบัติต่อกัน

บทบังคับ

1. ความรับผิดทางแพ่ง

          1.1   กรณียื่นตราสารขอเสียอากรเอง ตราสารใดมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือผู้ทรงตราสาร หรือผู้ถือเอาประโยชน์ชอบที่จะยื่นตราสารนั้น ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อขอเสียอากรได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับตราสารแล้ว ให้อนุมัติให้เสียอากรภายในบังคับแห่งบทบัญญัติต่อไปนี้

        ถ้าตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์นั้น เป็นตราสารที่กระทำขึ้นในประเทศไทย เมื่อผู้ขอเสียอากร ได้ยื่นตราสารนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเสียอากรภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ต้อง ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ก็ให้อนุมัติให้เสียเพียงอากรตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดอากรแสตมป์

          1.2   กรณีปรากฎต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นอย่างอื่น ก็ให้อนุมัติให้เสียอากรและให้เรียกเก็บ เงินเพิ่มอากร ดังต่อไปนี้อีกด้วย
                   (ก) ถ้าปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นเวลา ไม่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็น 2 เท่าจำนวน อากรหรือเป็นเงิน 4 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
                   (ข) ถ้าปรากฎต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นเวลาพ้น กำหนด 90 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้วให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็น 5 เท่าจำนวน อากรหรือเป็นเงิน 10 บาทแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

          1.3   กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจทำการตรวจพบ กล่าวคือเมื่อมีเหตุสมควรพนักงาน เจ้าหน้าที่หรือนายตรวจมีอำนาจเข้าไปในสถานการค้าหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องระหว่าง พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานการค้าหรือสถานที่นั้น เพื่อทำการตรวจสอบตราสารว่าได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตาม ที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์หรือไม่ หรือทำการตรวจสอบเพื่อทราบว่าได้ออกใบรับ หรือทำหรือ เก็บต้นขั้วสำเนาใบรับ หรือทำหรือเก็บบันทึกตามที่กำหนดไว้ในหมวดอากรแสตมป์ หรือไม่กับมีอำนาจ เรียกและยึดตราสาร หรือเอกสารและออกหมายเรียกตัวผู้มีหน้าที่เสียอากร ผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์แห่ง ตราสารและพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาไต่สวน โดยการกล่าวหาแจ้งความของบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพนักงานรัฐบาลหรือมิใช่ก็ดี ถ้าปรากฎว่า

          (1)   มิได้มีการออกใบรับในกรณีที่ต้องออกใบรับตามข้อ 2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บ เงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
          (2)   ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ โดย

                        (ก) มิได้ปิดแสตมป์เลย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่า ของเงินอากรที่ต้องเสียหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
                        (ข) ปิดแสตมป์น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงิน อากรจนครบ และเงินเพิ่มอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรที่ขาดหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
                ในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็นจำนวน 1 เท่าของเงินอากร ที่ต้องเสียหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

2. ความรับผิดทางอาญา

          2.1   ผู้ใดมีหน้าที่เสียอากร หรือขีดฆ่าแสตมป์ เพิกเฉยหรือปฏิเสธไม่เสียอากรหรือไม่ขีดฆ่าแสตมป์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
          2.2   ผู้ใดออกใบรับไม่ถึง 10 บาท สำหรับมูลค่าตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป หรือแบ่งแยกมูลค่าที่ได้รับชำระนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรก็ดี จงใจกระทำหรือทำตราสารให้ผิดความจริงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
          2.3 ผู้ใดไม่ทำหรือไม่เก็บบันทึกตามมาตรา 105 ตรี หรือไม่ออกใบรับให้ทันทีที่ถูกเรียกร้องตาม มาตรา 106 (ข้อ 2.2) หรือออกใบรับซึ่งไม่ปิดแสตมป์ตามจำนวนอากรที่ต้องเสีย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

          2.4 ผู้ใดโดยตนเองหรือสมคบกับผู้อื่นทำให้ไม่มีการออกใบรับหรือไม่ออกใบรับให้ทันทีที่รับเงิน หรือรับชำระราคาตามมาตรา 105 (ข้อ 2.1) หรือออกใบรับเป็นจำนวนเงินน้อยกว่า ที่รับเงินหรือรับชำระราคาจริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ

          2.5 ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจในการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือโดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามคำเรียกหรือไม่ยอมให้ยึดตราสารหรือ เอกสาร หรือไม่ปฏิบัติตามหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจ ตามความในมาตรา 123 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 105 ทวิ (ข้อ 3) มาตรา 105 จัตวา (ข้อ 5) หรือมาตรา 123 ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
          2.6 ผู้ใดโดยเจตนาทุจริตมีแสตมป์ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นแสตมป์ปลอมก็ดี หรือค้าแสตมป์ที่ใช้แล้วหรือที่มีกฎกระทรวง ประกาศให้เลิกใช้เสียแล้วก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือจำคุกไม่เกิน สามปีหรือทั้งปรับทั้งจำ


Cr.กรมสรรพากร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้