Last updated: 4 ก.ย. 2563 | 1012 จำนวนผู้เข้าชม |
ผู้ที่ยื่นภาษีออนไลน์ไม่ทันภายในวันที่ 31 ส.ค. 63 ไม่เป็นไร เพราะสามารถยื่นภาษีย้อนหลังได้แต่ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานให้พร้อม รวมถึงเตรียมใจไว้ด้วย
วันที่ 31 สิงหาคม 2563 ถือเป็นวันสุดท้ายที่ต้องยื่นภาษีทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เชื่อว่าหลายคนได้เร่งยื่นไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ยื่นอาจจะด้วยเพราะเอกสารหลักฐานยังไม่ครบด้วย
สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นย้อนหลังได้จะต้องเตรียมเอกสารทุกอย่างให้พร้อมก่อนที่จะไปยื่นภาษีที่สรรพากรท้องถิ่น โดยมีรายละเอียดดังนี้
แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90/91
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
หนังสือรับรองการจ่ายเงินปันผล
เอกสารที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ (ของตัวเองหรือของพ่อแม่ก็ได้ทั้งนั้น)
หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เอกสารยืนยันสิทธิ์ค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03)
การชำระดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน
เอกสารการซื้อกองทุน LTF/RME เพื่อลดหย่อนภาษี
นอกจากนี้จะต้องเตรียมใจสำหรับค่าปรับที่อาจจะเกิดขึ้นจากการยื่นภาษีล่าช้าด้วย เช่น เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม เป็นต้น
กรณียื่นภาษีช้าเกินกำหนดเวลา
1. บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี (ปีภาษี 2562 ขยายเวลาการยื่นภาษีถึง 31 ส.ค.63) หรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา
ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
2. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ
หากท่านมิได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี ถือว่ามิได้ยื่นแบบ ท่านต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา
3.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับตามข้อ 1 เพียงอย่างเดียว
4. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ
4.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
4.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ
5. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี
หากมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ
แหล่งที่มา : www.sanook.com , กรุงเทพธุรกิจ
13 มี.ค. 2568
11 เม.ย 2568
2 เม.ย 2568
25 มี.ค. 2568